ศิลปะไทยได้รับอิทธิพลจากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ ความงามอย่างนิ่มนวลมีความละเอียดปราณีต ซึ่งแสดงให้ เห็นถึงลักษณะนิสัยและจิตใจของคนไทยที่ได้สอดแทรกไว้ในผลงานที่สร้างสรรค์ ขึ้น โดยเฉพาะศิลปกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของไทย อาจกล่าวได้ว่าศิลปะไทยสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมพุทธศาสนา เป็นการเชื่อมโยงและโน้มน้าวจิตใจของประชาชนให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา งานศิลปะไทย หรือจิตรกรรมไทยจัดเป็นภาพเล่าเรื่องที่เขียนขึ้นด้วยความคิดจินตนาการของคนไทย มีลักษณะตามอุดมคติ ของกระบวนงานช่างไทย คือ
1. เอกลักษณ์ของจิตรกรรมไทย
1.เขียนสีแบน ไม่คำนึงถึงแสงและเงา นิยมตัดเส้นให้เห็นชัดเจน และเส้นที่ใช้ จะแสดงความรู้สึกเคลื่อนไหวนุ่มนวล
2.เขียนตัวพระ-นาง เป็นแบบละคร มีลีลา ท่าทางเหมือนกัน ผิดแผกแตกต่าง กันด้วยสีร่างกายและเครื่องประดับ
3.เขียนแบบตานกมอง หรือเป็นภาพต่ำกว่าสายตา โดยมุมมองจากที่สูงลงสู่ ล่าง จะเห็นเป็นรูปเรื่องราวได้ตลอดภาพ
4.เขียนติดต่อกันเป็นตอน ๆ สามารถดูจากซ้ายไปขวาหรือล่างและบนได้ทั่วภาพ โดยขั้นตอนภาพด้วยโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง และเส้นสินเทาหรือคชกริด เป็นต้น
5.เขียนประดับตกแต่งด้วยลวดลายไทย มีสีทองสร้างภาพให้เด่นเกิดบรรยากาศ สุขสว่างและมีคุณค่ามากขึ้นภาพลายไทย เป็นลายที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยมีธรรมชาติมาเป็นแรงดลบันดาลใจ โดยดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นลวดลายใหม่อย่างสวยงาม เช่น ตาอ้อย ก้ามปู เปลวไฟ รวงข้าว และดอกบัว ฯลฯ ลายไทยเดิมทีเดียวเรียกกันว่า "กระหนก"

2.เอกลักษณ์ของประติมากรรมไทย
1.ไม่แสดงความแตกต่างของพื้นผิว งานประติมากรรมไทย มีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดคือนิยมขัดแต่งผิว ให้เรียบเนียน เกลี้ยงเกลา ทำให้เกิดคุณค่าทางความงามจากความอ่อนช้อยคดโค้งของรูปและลวดลาย รวมทั้งการตัดกันระหว่างรูปกับพื้น(ช่องไฟ)
2.ไม่นิยมปั้นหรือแกะสลักคนเหมือน คตินิยมของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ จะไม่มีการสร้างงานประติมากรรมเป็นรูปคนเหมือน ดังนั้นจึงไม่มีพระบรมรูปกษัตริย์ไทยที่เป็นงานประติมากรรมไทย
แต่จะสร้างพระพุทธรูปและเทวรูป เป็นสื่อแทนให้เคารพสัการะ
3.ไม่แสดงกล้ามเนื้อในรูปทรงของคนและสัตว์ งานประติมากรรมไทยมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ อีกอย่างหนึ่งคือ ไม่แสดงกล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นเอ็น ให้เห็นในลักษณะที่เป็นธรรมชาติเหมือนจริง
แต่จะแสดงความงามตามอุดมคติ คือความเกลี้ยงเกลา อ่อนช้อย
4.แฝงอยู่ในลักษณะของเครื่องประดับและตกแต่ง งานประติมากรรมไทยนอกจากพระพุทธรูป และเทวรูปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อการประดับตกแต่งอาคารสถาปัตยกรรมไทย ให้มีคุณค่าทางความงามยิ่งขึ้น เช่นลวดลายประดับฐานบานประตู และผนังของสถูป เจดีย์ โบสถ์ วิหาร
เป็นต้น
3. เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย
1.นิยมสร้างเรือนชั้นเดียว การสร้างเรือนไทย หรือที่อยู่อาศัยของคนไทยนั้นนิยมสร้างเป็นเรือน
ชั้นเดียว โดยยกพื้นสูงพ้นระดับดิน เพื่อไม่ให้น้ำท่วมเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก และช่วยให้ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายซึ่งในสมัยก่อนมีชุกชุม
2.มีโครงสร้างง่ายๆและเปิดเผย งานสถาปัตยกรรมไทยนิยมสร้างด้วยไม้และออกแบบโครงสร้างง่ายๆไม่มีความซับซ้อน ประกอบกันเป็นโครงสร้างที่มีความสมดุล ประสานกลมกลืนของชิ้นส่วนที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนสะดวกในการเรียนรู้และจดจำนำไปก่อสร้าง
3.มีหลังคาทรงสูงและมีกันสาดยื่นออกมา การสร้างหลังคาของเรือนไทยนิยมสร้างเป็นทรงสูง “รูปทรงสามเหลี่ยม” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ไทย ทั้งนี้เนื่องจากเมืองไทยมีอากาศร้อนอบอ้าว ฝนตกชุก การสร้างหลังคาทรงสูง จะช่วยระบายความร้อนได้ดี และยังให้การไหลเทของน้ำฝนได้ดี อีกด้วยถือเป็นภูมิปัญญาของช่างไทย
4.สร้างหลังคาซ้อนกันหลายชั้น งานสถาปัตยกรรมไทยมีความงดงามอย่างเด่นชัดคือการสร้างหลังคาซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งทำให้เกิดความงามในการจัดองค์ประกอบศิลป์ อย่างมีชั้นเชิง ซึ่งสอดคล้องกับคตินิยมที่ว่า การอาศัยอยู่ภายใต้หลังคาหรือร่มฉัตรที่ซ้อนกันหลายๆชั้นนั้น นับเป็นศิริมงคลอย่างยิ่ง